The Bridges of Madison County (1995) สะพานรัก สะพานอดีต
: BD-2409-D
Bluray 25GB 1 แผ่น
พากย์ : English 5.1 DTS-HD MA | บรรยาย: English/ Thai
ไม่ติด Cinavia เล่นได้ทุกเสียง
รายละเอียด
ภาพยนตร์ของคลินท์ อีสต์วู้ด ในปี ๑๙๙๕ ที่คุณปู่ทั้งเล่นเองและกำกับเอง ถือว่าเป็นหนังที่ยังไม่เก่า แต่ผมคิดว่าขึ้นหิ้งหนังคลาสสิกไปแล้ว ส่วนเมอรีล สตรีพ ก็ได้รับเสนอชื่อเข้าชิงดารานำหญิง แต่ก็แห้วไปตามระเบียบออสการ์ ที่มักจะให้รางวัลแบบแปลก ๆ คนที่สมควรได้ก็ไม่ได้ คนที่ไม่สมควรได้ก็ได้ เป็นต้น ฝรั่งนั้น เขาทำเรื่องของชู้สาวได้อย่างมีศิลปะ ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องผิดศีลธรรมแท้ ๆ คลินท์ อิสต์วู้ดนั้น รับบทเป็นช่างภาพของนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ที่มาที่เมืองเล็ก ๆ แห่งนี้ เพื่อถ่ายรูปสะพานไม้อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของที่แห่งนี้ แล้วก็มาเจอกับแม่บ้านธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ซึ่งมีชีวิตเรียบง่ายเสียเหลือเกิน จนละเมอเผลอไผลไปกับสุภาพบุรุษหนุ่มใหญ่อย่างปู่คลินท์เข้า เรื่องราวเป็นอย่างไรคงไม่บรรยายมาก เพราะคงได้ดูกันไปหมดแล้ว และแก่นแกนของเรื่องก็มีเพียงเท่านั้น แต่ก็อย่างที่บอก ฝรั่งมันเก่งในการทำหนังดราม่า ทำให้คนดูนั้น เห็นอกเห็นใจและเข้าใจในมูลเหตุของการที่คน ๒ คนจะรักกัน แม้ว่าคนทั้งสองจะมีพันธนาการอยู่แล้ว หรือมีปมในใจอยู่ก่อน ตรงนี้เป็นศิลปะชั้นสูงมาก ๆ อย่างกรณีของหนังเรื่องนี้ ที่แม้จะแสดงให้เห็นความสวยงามของความรัก แต่ก็ทำบรรยากาศของหนังผ่านทางบท ที่ทำให้เห็นว่า "เฮ้ย นี่มันไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนะ" ปู่คลินท์พูดกับเมอรีล สตรีพ ว่าเขาและเธอไม่ควรทำอะไรแบบนี้ เพียงแต่เมื่อหักห้ามความต้องการไม่อยู่ ก็เลยต้องปล่อยเลยตามเลยตามสัญชาติญาณของมนุษย์ และ ในตอนท้าย ปู่คลินท์ยังเรียกร้องให้ "เธอ" ตัดสินใจเลือกทางเดิน ระหว่างการที่จะอยู่เป็นแม่บ้านที่สถานที่เงียบเหงาต่อไปอย่างซังกะตาย กับการที่ต้องทิ้งลูกทิ้งผัว และเดินทางไปกับเขา เพราะเมื่อถลำลึกไปแล้ว ก็ยากที่จะถอนตัวจากความเป็น "เจ้าเข้าเจ้าของ" ในของที่ตัวเอง " ไม่ได้เป็นเจ้าของ " หนังแสดงให้เห็นความสวยงามของความรักแบบนี้ เป็นความสวยงามในด้านมืด ซึ่งเมื่อเลือกที่จะรัก ก็ต้องยอมทนกับความเจ็บปวด หนังจึงไม่ได้แทรกความคิดส่งเสริมการผิดศีลธรรมแต่อย่างใด ตรงนี้ละครับ คือความเป็นมือชั้นครูของนิยายที่ทำเป็นหนังเรื่องนี้ ซึ่งถ้าเป็นหนังไทยละก็ ไม่มีทางที่จะทำออกมาได้เลย เพราะจะแท้งตั้งแต่เมื่อคิดจะทำ ตามประสาของประเทศที่ปากว่าตาขยิบในหลาย ๆ เรื่อง ผมชอบหนังเรื่องนี้ในหลาย ๆ ฉาก ชอบตรงที่ความลึกของตัวละคร เมอรีล สตรีพ นั้นสารภาพว่าเธอต้องจากบ้านเกิดที่อิตาลีมากับหนุ่มอเมริกัน ซึ่งเป็นสามีของเธอในปัจจุบัน โดยหวังว่าชีวิตที่อเมริกาจะมีสีสัน แต่เธอหารู้ไม่ว่ามันเป็นชีวิตแบบอเมริกันแถบชนบท ที่อยู่กันอย่างเรียบง่าย ความฝันของเธอมอดไปตั้งแต่เมื่อใดไม่รู้ แต่เดาว่าคงมอดไปนานแล้ว ตั้งแต่ก่อนจะมีเจ้าตัวน้อยคลอดออกมาเสียอีกกระมัง ผมชอบบทสนทนาในตอนนี้ ที่แสดงให้เห็นว่า ชีวิตที่ดูไม่น่ามีปัญหาอะไร มีลูกมีสามี มีบ้าน แต่มันเป็นความเจ็บปวดลึก ๆ จะมีอะไรในชีวิตเล่า นอกจากตื่นเช้ามาทำอาหารให้ลูกให้ผัวกิน แล้วก็ล้างจาน คอยผัวกลับจากทำงาน คอยลูกกลับจากโรงเรียน แล้วก็ทำอาหาร จากนั้นก็ล้างจาน !!! อีก ประการหนึ่งที่ชอบก็คือ การดำเนินเรื่องสลับกันไปมาอย่างชั้นครู ระหว่างเหตุการณ์หลักของเรื่อง กับเหตุการณ์ปัจจุบันที่บรรดาลูก ๆ ของเธอโตกันหมดแล้ว และก็มานั่งทบทวนเหตุการณ์ในอดีตว่าแม่ของตัวกำลังทำอะไรเช่นนี้อยู่ ! จากความไม่เข้าใจ มาเป็นความเห็นอกเห็นใจ ซึ่งเปลี่ยนเป็นความเข้าใจในที่สุด ฉากที่ประทับใจที่สุดอีกฉากหนึ่ง คงเป็นตอนที่เธอนั่งอยู่ในรถกระบะกับสามี ส่วนปู่คลินท์นั้น ยืนท่ามกลางสายฝนรอเธอตัดสินใจว่าจะลงมาจากรถไปกับเขาหรือไม่ เป็นวินาทีเป็นวินาทีตาย ระหว่างศีลธรรมกับความต้องการ ระหว่างโลกที่น่าเบื่อกับโลกใหม่ แค่เพียงเปิดประตูลงมาเท่านั้น ทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไป แต่เมื่อเธอตัดสินใจแล้ว จุดที่ทำให้น้ำตาซึมก็คือ ปู่คลินท์จำยอมรับการตัดสินใจของเธอ เขาทำอะไรได้ไม่มากไปกว่านี้อีกแล้ว จึงได้แต่สัมผัสสร้อยเส้นน้อยที่แขวนไว้หน้ารถ ดั่งคำอำลา ส่วนสามี ของเธอนั้น หนังแสดงให้เห็นว่าเขานั้นเป็นคนที่แสนดี แต่เขาก็อาจจะพอรู้ตัวอยู่บ้างว่าเมียของเขานั้น ไม่มีความสุข ในตอนท้ายของหนัง เราจึงได้ยินคำพึมพำดั่งคำขอโทษกลาย ๆ ว่าเขาทำให้ชีวิตเธอไม่มีความสุขหรือเปล่า แหม มีแต่ผู้คนที่ดี ๆ ทั้งนั้นในเรื่องนี้ แล้วจะกลั้นน้ำตาได้ยังไงไหว และผมก็ชอบที่ เหตุการณ์นี้ไม่มีคำอธิบายต่อไปอีก ว่าชีวิตของเขาและเธอทั้งสองเป็นอย่างไรต่อไป เราคงได้แต่คาดเดาว่าเขาทั้งสองคงเจ็บปวดอยู่ตลอดเวลา จนถึงแก่อายุขัยไปทั้งสองคน แต่วาระสุดท้ายเขาก็ยังไม่ลืมเธอ ... หนังเล่นกับอารมณ์ และออกจะอ้อยอิ่ง ซึ่งสภาวะของการจงใจอ้อยอิ่งแบบนี้ ทำให้เราเข้าถึงจุดไคลแมกซ์ของเรื่องในตอนท้ายได้ การถ่ายภาพสวยงาม แม้สีสันจะออกโทนแห้ง ๆ ตามสไตล์อาร์ตของคลินท์ อีสต์วู้ด เป็นหนังของแกที่ผมว่าทำได้ดีที่สุดเป็นเรื่องแรก