กษัตริยา
: RT-0068-D
DVD 13 แผ่น
รายละเอียด
นำแสดงโดย
1. ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี แสดงเป็น พระวิสุทธิกษัตรีย์
2. อนุสรณ์ เตชะปัญญา แสดงเป็น พระมหาธรรมราชา
3. วรัทยา นิลคูหา แสดงเป็น พระสุพรรณกัลยา
4. อานัส ฬาพานิช แสดงเป็น พระนเรศ (สมเด็จพระนเรศวรมหาราช)
5. กันตะ กัลย์จาฤก แสดงเป็น พระเอกาทศรถ
เรื่องย่อ
ความเริ่มตั้งแต่สมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์ในการยุทธหัตถีกับพม่า พระราเมศวรราชบุตรเข้ากันพระศพไว้ได้ พระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ยกทัพกลับหงสาวดี พระบรมศพสมเด็จพระบรมศพสมเด็จพระสุริโยทัยถูกอัญเชิญมาถวายพระเพลิง ณ วัดสวนหลวงสบสวรรค์ อันเคยเป็นสวนสวรรค์ที่เคยทรงพระสำราญคราวยังทรงพระชนมชีพ บัดนี้กลับกลายเป็นสถานที่ส่งพระวิญญาณสีสรวงสวรรค์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเศร้าโศกโศกาดูรราชบุตรีพระองค์ใหญ่ พระวิสุทธิกษัตรีย์ทรงจดจำความเจ็บปวดฝังลึกในพระราชหฤทัย ว่าพระราชมารดาทรงหลั่งโลหิตเพื่อปกป้องแผ่นดิน
หลังจากนั้นไทยกับพม่าว่างเว้นศึกสิบห้าปี ระหว่างนั่นพระเจ้าตะเบ็งเวตี้วิปลาส ถูกสมิงสอดวุต ลวงไปปลงพระชนม์ หงสาวดีเกิดการจลาจล บุเรงนองมหาอุปราชต้องปราบปรามจนราบคาบแล้วราชาภิเษกขึ้นเป็นพระเจ้าหงสาวดี บุเรงนอง
ปีกุน พ.ศ. 2106 พระเกียรติยศสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเลื่องลือแพร่หลาย ด้วยทรงมีช้างเผือกมาสู่พระบุญญาบารมีถึง 7 เชือก จนได้รับถวายพระนามว่าพระเจ้าช้างเผือก พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นมาเจริญพระราชไมตรี ขอช้างเผือกไปเป็นศรีนครสองเชือก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงทราบทันทีว่าบุเรงนองมีประสงค์จะก่อศึก เพราะหากทรงยอมตามคำขอก็หมายถึงยอมอยู่ในอำนาจ แต่ถ้าทรงปฏิเสธขัดข้องก็จะถือเอาเป็นเหตุยกมาตีเอากรุงศรีอยุธยา
เวลานั้นในกรุงศรีอยุธยาแบ่งออกเป็นฝักฝ่าย พระมหินทราธิราช ราชบุตรองค์ใหญ่แม้จะเป็นอุปราช แต่ไม่ได้รับความจงรักภักดีเท่าพระราเมศวรผู้ทรงเก่งกาจในการณรงค์ พระราเมศวร ทรงเห็นด้วยกับพระยาจักรีว่า จากวันนี้ฤาวันไหน สงครามไทยพม่าย่อมอุบัติแน่ จะพระราชทานช้างเผือกให้พม่าไปใยให้เสียพระเกียรติยศ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงทรงตอบปฏิเสธบุเรงนอง หลังจากนั้นอยุธยาก็เตรียมการพร้อมรบ ข่าวเตรียมศึกถูกส่งออกไปถึงเมืองพิษณุโลก
ผู้ครองเมืองลูกหลวง พิษณุโลก ณ เวลานั้น เดิมคืออดีตทหารกล้านามขุนพิเรนทรเทพ ผู้เคยปราบกบฏขุนวรวงศาธิราช บั่นหัวนางพระยาศรีสุดาจันทร์ แล้วถวายบัลลังก์ให้แก่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ จนได้รับพระราชบัณฑูรให้ครองเมืองพิษณุโลก เป็นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชเจ้า และได้รับพระราชทานพระสวัสดิราช พระราชธิดาพระองค์โตเป็นอัครมเหสี ทรงนามใหม่ว่าพระวิสุทธิกษัตรีย์ บัดนี้ทรงมีพระราชธิดาและพระราชโอรสรวม ๓ พระองค์ คือ พระสุพรรณกัลยา พระนเรศ และ พระเอกาทศรถ
เวลานั้นพระสุพรรณกัลยาเจริญวัยแรกรุ่น ดรุณี พระฉวีเหลืองละออดังทองสมพระนาม ส่วนพระนเรศยังเยาว์พระชันษา แต่ทรงสนพระทัยในการสงครามอย่างเห็นได้ชัด พระฉวีคล้ำเข้มจนได้รับพระนามว่าพระองค์ดำ ส่วนพระเอกาทศรถ งามสะโอดสะอง พระฉวีขาวผ่อง จึงได้รับพระนามว่าพระองค์ขาว
บุเรงนองกรีธาทัพเข้ามาโดยหัวเมืองทางเหนือมิได้ทันตั้งรับ เข้าบดขยี้ได้กำแพงเพชร สุโขทัย สวรรคโลกและพิชัยโดยง่าย จากนั้นจึงยกเข้าล้อมพิษณุโลกอันเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ พระมหาธรรม
ราชาเจนการศึก จึงรู้แน่แก่ใจว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวงเกินจะรับมือได้ ทัพพระเจ้าหงสาวดีมีพลถึงห้าแสน อีกทั้งมีเชียงใหม่คอยหนุนหลัง แต่เบื้องแรงพระมหาธรรมราชาก็ต่อสู้สุดความสามารถ จนในที่สุดเมืองจวนพินาศ เสบียงอาหารขาดแคลน เกิดโรคระบาดขึ้นในเมือง จึงต้องตัดสินพระทัยจำยอมอ่อนน้อมแก่ทัพพม่าเพื่อถนอมบ้านเมืองให้บอบช้ำ น้อยที่สุด
การตัดสินใจของพระสวามีสร้างความตกตะลึงให้กับพระวิสุทธิกษัตรีย์ผู้ทรงสืบ สาย โลหิตจากวีรสตรีนักรบผู้กล้า ยิ่งเมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองให้พระมหาธรรมราชาและเจ้าเมืองกรมการที่ยอม อ่อนน้อมถือน้ำกระทำสัตย์ พระวิสุทธิกษัตรีย์ก็ทรงปวดร้าวถึงกับชวนพระวรกายปะทะแท่นวางพานพระศรี พระนลาฏกระทบขอบพานจนพระโลหิตตกทรงกระชากฉีกชายฉลองพระองค์ชับพระโลหิตบนพระ นลาฏ ม้วนพระภูษาเปื้อนพระโลหิตบรรจุตลับทองเก็บไว้ หลังจากนั้นไม่สรงไม่เสวยไม่ยอมเยียวยาบาดแผล ความขัดแย้งของสองพระองค์กลายเป็นรอยร้าวฉาน พระวิสุทธิกษัตรีย์ได้แต่ทรงฝากความหวังให้โอรสธิดาทั้งสามพระองค์กอบกู้ บ้านเมืองกลับคือมาให้ได้ในวันข้างหน้า
พระเจ้าหงสาวดีกรีธาทัพลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิไม่อาจทานศึกได้ก็จำยอมออกมารับพระราชทานไมตรี ต้องทรงยอมให้พระเจ้าหงสาวดีนำตัวพระราเมศวรกับพระยาจักรีไปเป็นตัวประกัน ที่เมืองพม่า อีกทั้งยอมส่งช้างไปบรรณาการปีละ 30 เชือก ยอมส่งส่วยสาอากร รวมทั้งยอมเสียอำนาจปกครองเมืองมะริด พระราเมศวรตรอมพระทัยประชวรหนักระหว่างทาง ก่อนสิ่งพระชนม์มีรับสั่งสุดท้ายกับพระยาจักรี ห้ามมิให้ฝังพระอัฐิในดินแดนพม่า ให้หาทางนำกลับกรุงศรีอยุธยาให้จงได้
พระเจ้าเมกุติแห่งเมืองเชียงใหม่แข็งข้อกับหงสาวดี บุเรงนองจึงยกทัพมาตีเชียงใหม่ โดยมีใบบอกให้พระมหาธรรมราชาขึ้นไปช่วยรบ พระมหาธรรมราชาตระหนักว่าหากปฏิเสธ เห็นทีพิษณุโลกจะต้องถูกตีย่อยยับเป็นครั้งที่สอง จึงทรงยอมยกทัพไปช่วยพม่าตีเชียงใหม่ พระวิสุทธิกษัตรีย์ทรงผิดหวังขมขื่นหนักขึ้นถึงแก่แตกหักกัน
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิออกผนวช พระมหินทราธิราชขึ้นครองเมืองพระยารามรณรงค์ เจ้าเมืองกำแพงเพชรกราบทูลยุยงว่าพระมหาธรรมราชากระด้างกระเดื่องต่ออยุธยา หันไปสวามิภักดิ์ต่อหงสาวดี ควรจะหันไปหาทางเจริญไมตรีกับกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างเอาไว้ พระมหินทราธิราชจึงส่งพระเทพกษัตรีย์ ไปพระราชทานแก่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้าง พระมหาธรรมราชาส่งข่าวนี้ไปแจ้งแก่บุเรงนอง บุเรงนองจึงส่งทหารมาดักชิงตัวพระเทพกษัตรีย์ไปหงสาวดี
พระมหินทราธิราชทรงแค้น คิดจะกำจัดพระมหาธรรมราชา จึงออกอุบายให้พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชยกทัพมาตีพิษณุโลก แล้วกรุงศรีอยุธยาจะทำทีแต่งทัพขึ้นมาช่วย แต่ความจริงจะตีกระหนาบบดขยี้พิษณุโลกเสียให้สิ้นแค้น พระมหาธรรมราชาทราบความเสียก่อนจึงซ้อนแผนเผาเรือรบกรุงศรีอยุธยาทิ้งจำนวน มาก เหตุการณ์ครั้งนี้ส่งผลให้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง อภิเษกพระมหาธรรมราชาขึ้นเป็นเจ้าฟ้าพิษณุโลก และประกาศให้พิษณุโลกเป็นประเทศราชขึ้นต่อหงสาวดีมิให้ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา สืบไป
ศึกระหว่างพระสวามีกับพระอนุชาครั้งนี้ บีบคั้นพระหทัยพระวิสุทธิกษัตรีย์จนแทบแตกสลาย ทรงตัดสินพระทัยส่งตลับบรรจุภูษาซับโลหิตจากพระนลาฏไปยังกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเปิดออกทอดพระเนตรเห็นโลหิตพระราชธิดาก็ทรงลาผนวช เสด็จขึ้นมายังพิษณุโลกรับพระวิสุทธิกษัตรีย์กับพระโอรสธิดาทั้งสามลงมา อยุธยาทันที พระเจ้าสงสาวดีบุเรงนองได้ที ทรงอ้างเหตุผลว่ากรุงศรีอยุธยาข่มเหงเมืองพิษณุโลก อันเป็นเมืองในขอบขัณฑสีมาพม่า สั่งให้เตรียมกองทัพใหญ่มาตรีกรุงศรีอยุธยา โดยให้พระมหาธรรมราชาลงมาช่วยทำศึกด้วย
พระวิสุทธิกษัตรีย์ทรงทราบ ความก็นิ่งขึง ชะตากรรมลิขิตให้พระสวามีต้องยกทัพมาทำศึกกับพระญาติวงศ์พงศา คนไทยต้องมาทำสงครามกับคนไทยด้วยกันเอง
บุเรงนองออกอุบายให้พระยาจักรีเป็นไส้ศึก ปล่อยตัวให้ลอบเข้าวังไปพร้อมกับพระอิฐิพระราเมศวร สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเห็นพระอัฐิพระราชโอรสก็เสียพระทัยยิ่ง ถึงแก่ประชวรหนัก เพียง ๒๕ วัน ก็เสด็จสวรรคต
อยุธยาระส่ำระสาย หลงกลศึกเสียทีบุเรงนอง เจ้าพระยาจักรีเปิดประตูเมืองรับศัตรูเข้ามาในพระนคร ในที่สุด เดือน 9 แรม 11 ค่ำ พ.ศ. 2112 กรุงศรีอยุธยาก็เสียเมืองให้แก่พม่า
เสียแม่ เสียพ่อ เสียพี่ เสียน้อง เสียทั้งครอบครัว มาบัดนี้ต้องมาเสียเมืองให้แก่อริราชศัตรูอีก แต่ชะตากรรมของพระวิสุทธิกษัตรีย์จะหมดสิ้นเท่านี้ก็หาไม่
เมื่อบุเรงนองทำพิธีปราบดาภิเษกพระมหาธรรมราชาขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดินแทนพระ มหินทราธิราชแล้ว ก็ออกพระโอษฐ์ขอตัวพระนเรศ โอรสองค์กลางไปเป็นพระราชบุตรบุญธรรมที่หงสาวดีอีก พระหทัยพระวิสุทธิกษัตรีย์แทบสลาย เมื่อพระมหาธรรมราชาทรงรับปากถวาย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าพระโอรสถูกนำไปในฐานะตัวจำนำในเมืองศัตรู
พระนเรศถูกส่งตัวไปประทับอยู่ ณ กรุงหงสาวดีถึง 6 ปี ทำให้ทรงทราบตื้นลึกหนาบาง กำลังฤทธิ์เดชและจุดอ่อนของพม่าเป็นอย่างดี ในพระราชหฤทัยทรงตระหนักดีว่าภารกิจการกู้ชาติเป็นของพระองค์ จึงเฝ้าอดทนรอวันที่จะได้ลุกขึ้นมาปลดปล่อยคนไทยออกจากการข่มเหงยึดครองของ พม่า
เมื่อพระนเรศเจริญพระชันษาได้ 15 ปี พระมหาธรรมราชาก็เห็นเป็นโอกาสดีที่จะทรงขอพระราชโอรสกลับมาเป็นกำลังสำคัญ กอบกู้บ้านเมือง เพื่อมิให้บุเรงนองแคลงพระทัย พระมหาธรรมราชาและพระวิสุทธิกษัตรีย์จึงต้องส่งพระราชธิดาองค์โตไปแลก เปลี่ยน พระเจ้าหงสาวดีได้พระสุพรรณกัลยาไปเป็นพระชายาเหมือนอย่างตัวจำนำแทน ก็อนุญาตให้พระนเรศกลับมาช่วยบิดาปกครองบ้านเมือง
เมื่อพระสุพรรณกัลยาต้องทรงจากบ้านเมืองไปเป็นตัวประกันในราชสำนักพม่าอย่าง โดดเดี่ยว ต้องทนรับสภาพความทุกข์เกินกว่าที่หญิงใดในโลกจะทนได้ ด้วยการตกเป็นชายาของกษัตริย์พม่าที่มีวัยสูงกว่ามากมายถึงสองพระองค์ เพราะเมื่อบุเรงนองสิ้นพระชนม์แล้ว ยังต้องทรงตกเป็นมเหสีของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงผู้โหดเหี้ยมสืบต่อมาอีก ด้วย
การเสียสละของพระพี่นางครั้งนี้ส่งผลให้พระนเรศหรือสมเด็จพร นเรศวรได้มีโอกาสกลับคืนสู่มาตุภูมิ และทรงลุกขึ้นกอบกู้บ้านเมืองได้สำเร็จ ทรงประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครง ปลดปล่อยคนไทยจากการยึดครองของพม่า หลังจากนั้นทรงรบพุ่งเผชิญสงครามกับพม่าตลอดระยะเวลายาวนาน โดยทรงเอาชนะพม่าได้ทุกครั้งจนพระเกียรติระบือลือเลื่อง ในปี ๒๑๓๕ ทรงทำสงครามยุทธหัตถีครั้งประวัติศาสตร์กับพระมหาอุปราชา พระโอรสของพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงที่หนองสาหร่าย สุพรรณบุรี ทรงจ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง นับเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก
ทว่าวันแห่งชัยชนะต้องแลกมาด้วยหยาดโลหิตของผู้อยู่เบื้องหลัง พระสุพรรณกัลยาทรงทราบข่าวพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์ด้วยพระหัตถ์พระอนุชา ก็ทรงตระหนักว่าวันที่ทรงรอคอยตลอดยี่สิบปีในดินแดนศัตรูมาถึงแล้ว ทรงยอมรับชะตากรรมอย่างกล้างหาญเด็ดเดี่ยวเมื่อพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรง ปรี่เข้ามาหาด้วยโทสะแรงกล้าที่เสียพระราชโอรส แล้วใช้พระแสงดาบฟันสุพรรณกัลยาจนสิ้นพระชนม์พร้อมพระราชธิดาพระองค์น้อย วินาทีนั้น ทรงรู้สึกเป็นอิสระยิ่งกว่าอิสระใดที่เคยทรงประสบมา
พระวิสุทธิกษัตรีย์ กษัตริยาผู้อาภัย มิได้ทรงทราบข่าวร้ายนี้เลยจนวาระสุดท้ายของพระชนม์ชีพ แม้ในวินาทีสุดท้ายบนภพมนุษย์ ยังทรงเต็มเปี่ยมในพระราชหฤทัยด้วยความหวัง ว่าสักวันหนึ่งจะได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันห้าพระองค์อีกครั้ง